วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความต่างของเทคโนโลยีกับนวัตกรรม


ได้ฟังบรรยายในหัวข้อการวิจัยในชั้นเรียน โดย รศ.สมพงษ์ บุญเลิศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ท่านใช้เทคโนโลยีประกอบการบรรยาย ถ้าเป็นเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ก็คงต้องใช้แผ่นใส คอยพลิกไปพลิกมาเพื่อใช้สื่อสารระหว่างผู้ฟังและผู้บรรยาย แต่วิทยากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้ Microsoft PowerPoint เป็นเครื่องมือในการนำเสนอหัวข้อประกอบการบรรยายแล้ว ปัจจุบันครูอาจารย์ในสถานศึกษาทุกระดับตื่นตัวกับการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI = Computer Assisted Instruction) เพื่อใช้เสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้มีประสิทธิผล ถ้าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนเมื่อ 20 ปีก่อน เราก็จะเรียกสิ่งนั้นว่านวัตกรรม แต่ปัจจุบันเรียกว่าเทคโนโลยี แล้ววิทยากรก็ปรารภว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง อายุมากขึ้นมองอะไรก็ไม่เหมือนสมัยเป็นหนุ่ม ถ้าผู้ที่ยังเป็นหนุ่มก็ควรรีบใช้สังขารให้เต็มที่ เพราะถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไปสังขารอาจไม่รองรับกับสิ่งที่ต้องการทำและยังไม่ได้ทำอีกมากมาย

ความแตกต่างของเทคโนโลยีกับนวัตกรรมมีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ คือ เวลา และสถานที่ หากสิ่งใดที่ถูกใช้ในสถานที่หนึ่งเป็นเวลานานและเกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย มักเรียกสิ่งนั้นว่าเทคโนโลยี เพราะใช้ประโยชน์ในที่นั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งจนทุกคนในกลุ่มรู้สึกคุ้นเคย แต่ถ้านำสิ่งนั้นไปใช้ในพื้นที่ใหม่เป็นครั้งแรกเกิดการเรียนรู้ใหม่ มีการตื่นตัวภายในกลุ่ม และเริ่มยอมรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับก็จะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่านวัตกรรม

วิทยากรได้ยกตัวอย่างเรื่องการใช้แฮ้วซึ่งเป็นเครื่องทุ่นแรงสำหรับตักน้ำขึ้นจากบ่อน้ำในภาคเหนือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีใช้มานาน แต่เมื่อนำไปใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแรกก็จะเรียกว่านวัตกรรม จนมีการยอมรับและแพร่หลายเป็นระยะเวลาหนึ่งก็จะเรียกว่าเทคโนโลยี หากจะเรียกการใช้ Microsoft PowerPoint เป็นนวัตกรรมในยุคแรกที่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับความนิยมก็ย่อมได้ เพราะอาจารย์ในอดีตที่ใช้แผ่นใสเป็นเทคโนโลยีประกอบการสอน เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องมือสำหรับช่วยสื่อสารในชั้นเรียนก็จะเรียกว่ามีนวัตกรรมใหม่ โปรแกรมในชุดของ Microsoft Office มีกำเนิดตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 ถูกใช้มาแล้วกว่า 20 ปี โปรแกรมนี้แพร่หลายไปทุกระดับ และทุกสายงาน จึงสมควรเรียกว่าเทคโนโลยี แต่ถ้าครูอาจารย์ใช้ e-Learning หรือ CAI ในวันนี้ก็จะเรียกว่านวัตกรรม เพราะเป็นเรื่องใหม่ อยู่ระหว่างพัฒนา และยังมีการถกเถียงถึงผลข้างเคียงของการใช้สื่อเหล่านี้ในหลายเวที


เครดิตข้อมุล : http://www.thaiall.com/itinlife/

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ระบบปฏิบัติการวินโดว์เจ็ด



เครื่องคอมพิวเตอร์คือการรวมกันของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานสอดรับกันเป็นระบบ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือส่วนนำข้อมูลเข้า ส่วนประมวลผล และส่วนแสดงผล ทั้งหมดถูกเรียกว่าฮาร์ดแวร์ (Hardware) ทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้า อุปกรณ์ทั้งหมดถูกควบคุมด้วยซอฟท์แวร์ (Software) เพื่อสั่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละส่วนให้ทำงานร่วม ซอฟท์แวร์ที่สำคัญคือระบบปฏิบัติการหรือโอเอส (OS = Operating System) ในอดีตค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จ่ายให้กับค่าซื้อฮาร์ดแวร์ แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านซอฟท์แวร์สูงกว่าฮาร์ดแวร์ บางองค์กรซื้อฮาร์ดแวร์มาครั้งเดียวแต่ต้องจ่ายค่าเปลี่ยนซอฟท์แวร์หลายครั้ง และต้องจ้างพีเพิลแวร์ที่มีประสบการณ์มาดูแลซอฟท์แวร์

ระบบปฏิบัติการเป็นซอฟท์แวร์พื้นฐานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ควบคุมอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกแก่ผู้พัฒนาโปรแกรม และการติดต่อกับผู้ใช้ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี (PC = Personal Computer) ที่เราใช้ทุกวันนี้เริ่มเป็นที่นิยมเมื่อบริษัทไอบีเอ็มพัฒนาฮาร์ดแวร์แล้วมอบงานพัฒนาโอเอสให้บริษัทไมโครซอฟท์ และเป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ระบบปฏิบัติการวินโดว์เคยครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้พีซีมากถึง 96% ทิ้งคู่แข่งอย่างลีนุกซ์และแอปเปิ้ลไกลมาก ตำนานของวินโดว์เริ่มต้นในพ.ศ.2526 มีการออกผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดพัฒนา

ตำนานของวินโดว์วิสต้าเปิดตัวพ.ศ.2548 แต่ออกมาได้ไม่นานก็มีเสียงวิพากษ์ว่าผู้ใช้ส่วนหนึ่งไม่ประทับใจประสิทธิภาพในการจัดการฮาร์ดแวร์ ต่อมาไมโครซอฟท์ได้ประกาศการพัฒนาวินโดว์เจ็ดในพ.ศ.2550 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอายุของวินโดว์วิสต้าไม่ยาวนัก ถ้ามองในมุมของการพัฒนาก็จะเป็นโอกาสของชาวลำปางที่จะได้ใช้ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม แต่ในมุมของผู้ใช้ก็อาจเป็นภัยคุกคามที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟท์แวร์อีกแล้ว แต่ความจำเป็นต้องซื้อรุ่นใหม่ก็ขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล เพราะผู้เขียนเชื่อว่าถ้าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์งานเอกสารหรือรายงานการประชุมจะใช้เพียงวินโดว์ 98 ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่ถ้าจะใช้พัฒนาระบบงานด้วยวิชวลเบสิกดอทเน็ตหรือมีข้อมูลมหาศาลต้องถูกประมวลผลแต่ละวันก็เข้าใจว่าต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้ทันเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร



เครดิตข้อมูล : http://gotoknow.org/thaiall

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเลือก Netbook หรือ Notebook



พบการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่มอบรางวัลที่ 1 เป็น netbook ผู้เขียนจึงเข้าไปสืบค้นข้อมูลจนพบว่า netbook คือเครื่องคอมพิวเตอร์แบบใหม่ที่พัฒนาด้วยการลดระดับจาก notebook ในเรื่องของน้ำหนักที่เบากว่า ขนาดเล็กและบาง ความเร็วต่ำกว่า จำนวนปุ่มบนแป้นพิมพ์น้อยกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า จอภาพแสดงผลเล็กกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์เหมาะกับการพกพาได้ง่าย กลุ่มลูกค้ามักเป็นเด็กนักเรียนที่ต้องการนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียน จุดเด่นคือมีราคาและน้ำหนักต่ำกว่า notebook เกือบครึ่งหนึ่ง รุ่นของหน่วยประมวลผลที่นำไปใช้กับ netbook มักมีคำว่า Atom หรือ Conesus

รูปร่างหน้าตาของ netbook คล้าย notebook ถ้าผู้ซื้อไม่สอบถามในรายละเอียดก็จะไม่เข้าใจถึงข้อจำกัด เนื่องจาก netbook ยังเป็นสินค้าที่ใหม่ในตลาด ดังนั้นอุปกรณ์ต่อพ่วงและซอฟท์แวร์ยังมีสนับสนุนไม่ดีนัก ถ้านำไปใช้งานตามปกติด้วยซอฟท์แวร์ที่มีมากับตัวเครื่องก็สามารถใช้งานได้ระดับหนึ่ง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เปิดอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าคิดจะดูภาพยนตร์ความละเอียดสูง หรือใช้งานซอฟท์แวร์มัลติมีเดียที่ซับซ้อนก็อาจรองรับได้ไม่ดีนัก

การซื้อสินค้าราคากว่าหนึ่งหมื่นบาทก็ต้องใช้วิจารณญาณและหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนความพอเพียง เช่น คุณแม่จะซื้อคอมพิวเตอร์ไว้สอนภาษาอังกฤษลูกก็อาจซื้อ netbook ได้ หรือพนักงานขายจะใช้นำเสนอข้อมูลสินค้าต่อลูกค้าก็มีความเหมาะสม แต่ถ้านักศึกษามหาวิทยาลัยต้องการนำไปพัฒนาระบบฐานข้อมูลบนเครือข่าย สร้างภาพยนต์แอนิเมชัน ทดสอบโปรแกรมประมวลผลที่ซับซ้อน เปิดโปรแกรมพร้อมกันหลายโปรแกรมแบบมัลติทาสกิ้ง และใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงอยู่เสมอก็คงต้องหาซื้อ notebook การซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานในรุ่นมาตรฐานน่าจะดีกว่าการซื้อสินค้ากลุ่มลดขนาด หรือกลุ่มตกรุ่น หรือกลุ่มออกใหม่ล่าสุด แต่ทุกคนย่อมมีเหตุผล เพราะปัจจัยเรื่องน้ำหนักและราคาอาจอยู่เหนือปัจจัยอื่นในการเลือกซื้อสินค้า

เครดิตข้อมูล : www.thaiall.com/itinlife/